วันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2554

การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารโรงเรียนประสาทรัฐประชากิจ จังหวัดราชบุรี
















การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
โรงเรียนประสาทรัฐประชากิจ จังหวัดราชบุรี
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 8


การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นไปอย่างรวดเร็ว เป็นเหตุให้ระบบการจัดการเรียนการสอนต้องปรับเปลี่ยนไป จากการเรียนการสอนในห้องเรียน ไปเป็นการเรียนรู้แบบไม่จำกัดเวลาและสถานที่ (Any Time Any Where) ทำให้นักเรียนสามารถสืบค้นข้อมูลต่าง ๆ จากเครือข่ายคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะจากระบบอินเทอร์เน็ตได้ด้วยตนเอง สอดคล้องกับ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ซึ่งเน้นในด้านการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการศึกษา โดยคำนึงถึงความแตกต่างและความถนัดของผู้เรียนเป็นรายบุคคล เน้นให้ผู้เรียนได้ศึกษาค้นคว้าและลงมือปฏิบัติด้วยตนเองเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ตามศักยภาพของผู้เรียนแต่ละคน
โรงเรียนประสาทรัฐประชากิจ โดยท่านผู้อำนวยการโรงเรียน นายสถาพร อภิวังโสกุล จึงมีนโยบายให้งานคอมพิวเตอร์พัฒนาด้าน ICT เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนและการบริหารงานของโรงเรียนในหลากหลายรูปแบบ ดังนี้
1.จัดให้มีการเรียนการสอนรายวิชาคอมพิวเตอร์ ทุกระดับชั้น ตั้งแต่ ม.1-ม.6 เป็นประจำทุกภาคเรียน และทุกปีการศึกษา
2.ติดตั้งระบบเครือข่ายแลน (LAN) และระบบเครือข่ายแบบไร้สาย (Wireless) ให้ครอบคลุมพื้นที่โดยรอบบริเวณโรงเรียน เพื่อให้นักเรียนและบุคลากรในโรงเรียนทุกคนสามารถใช้งานระบบอินเทอร์เน็ตได้อย่างทั่วถึง เช่น บริเวณม้าหินใต้ร่มไม้ หรือศาลาพักผ่อนรอบบริเวณโรงเรียน ทำให้นักเรียนมีความสุขกับการเรียนและสามารถพัฒนาการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศได้เป็นอย่างดี
3.ติดตั้งระบบควบคุมการใช้งานอินเทอร์เน็ตในเครื่องให้บริการ (Server) เพื่อคุมควบการใช้งานและคอยกำกับติดตามการใช้งานอินเทอร์เน็ตไปในทางที่มิชอบ เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550
4.นำเครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพา (Note Book) ซึ่งได้มาจากงบประมาณตามโครงการไทยเข้มแข็ง ให้บริการยืมเรียนกับนักเรียนทุกคน เพื่อเป็นการเปิดโลกกว้างทางการศึกษา โดยนักเรียนสามารถสืบค้นข้อมูลเพื่อบูรณาการความรู้ในรายวิชาต่าง ๆ ได้
5.พัฒนาห้องสมุด ICT เพื่อให้นักเรียนได้สืบค้นข้อมูล และข่าวสารต่าง ๆ จากเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ทั้งระบบอินเทอร์เน็ตและอินทราเน็ตได้ เป็นการสนับสนุนการเรียนรู้เป็นรายบุคคล ทำให้นักเรียนสามารถพัฒนาศักยภาพตามความสามารถของตนเองได้เป็นอย่างดี

จากการส่งเสริม และสนับสนุนดังกล่าว ทำให้นักเรียนของโรงเรียนประสาทรัฐประชากิจ เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถและทักษะทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นอย่างดี สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน และใช้ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี

การดำเนินงานชมรมสร้างเสริมสุขภาวะด้านการอนุรักษ์น้ำ ปีการศึกษา ๒๕๕๓
สภาพสิ่งแวดล้อมที่สะอาดปราศจากมลพิษเป็นภาวะที่มนุษย์ทุกคนพึงปรารถนา แต่ภาวการณ์ในสังคมปัจจุบันเป็นภาวะที่สังคมเร่งรีบในการพัฒนา มีการเร่งใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ อย่างมากมาย อันส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแบบปัญหาลูกโซ่ติดตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องขยะและน้ำเสียยิ่งทวีความรุ่นแรงขึ้น การพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น เป็นกระบวนการพัฒนาโดยการมีส่วนร่วมจำเป็นต้องใช้พลังจากหลายส่วนเข้ามามีบทบาทในทุกระดับ ตั้งแต่การร่วมระดมสมองวางแผน การลงมือปฏิบัติ การประเมินผล การตรวจสอบ การรักษาหรือธำรงไว้ สำหรับภาวะวิกฤตของคลองดำเนินสะดวกในขณะนี้ก็คือ การเสื่อมโทรมและเน่าเสียของน้ำในคลองดำเนินสะดวก ซึ่งเกิดจากการทิ้งขยะ ทำให้มีสารปนเปื้อนในน้ำมากขึ้น การระบายน้ำเสียจากบ้านเรือน จากอุตสาหกรรมและจากการเกษตร ปัญหาการเจริญเติบโตของผักตบชวา การไหลถ่ายเทของน้ำในคลองดำเนินสะดวกมีน้อยลง จึงเป็นบ่อเกิดของการเน่าเสีย เพื่อแก้ไขบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อมและเป็นการยกระดับคุณภาพของน้ำในคลองดำเนินสะดวก โรงเรียนประสาทรัฐประชากิจ จึงได้เข้าร่วมโครงการสร้างเสริมสุขภาวะแบบบูรณาการในการสร้างชุมชนต้นแบบด้านการอนุรักษ์น้ำ อำเภอดำเนินสะดวก เพื่อเป็นการปลุกกระแสความรักถิ่นฐานบ้านเกิด การฟื้นฟูสภาพคลองดำเนินสะดวก ให้มีชีวิตชีวามีความสะอาด เกิดทัศนียภาพที่น่ามอง ให้สมกับเป็นคลองที่มีความสำคัญด้านประวัติศาสตร์ โดยการสร้างนักเรียนแกนนำฯ ขยายเครือข่ายสมาชิกในโครงการฯ มีการประชาสัมพันธ์ รณรงค์ ให้ทุกคนได้มีความตระหนัก รู้ถึงคุณค่าของสายน้ำ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการแก้ไข/บำบัด/ลดปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันให้เบาบางลงเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของสังคมไทยในอนาคตแบบยั่งยืนตลอดไป ตามแนวทางการพัฒนาสายน้ำที่เป็นประโยชน์ต่อปวงชนชาวไทย ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
วัตถุประสงค์
1.เพื่อให้นักเรียนเกิดความตระหนักเฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาด้านการอนุรักษ์น้ำ
2.เพื่อจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์น้ำในสถานศึกษา
3.นำองค์ความรู้ เรื่องการบำบัดน้ำเสียผ่านกระบวนการประชาสัมพันธ์ และการปฏิบัติในโรงเรียน และออกสู่ชุมชน
4.เพื่อสร้างเครือข่ายเยาวชนแกนนำในการอนุรักษ์น้ำร่วมกับชุมชนบริเวณใกล้เคียงสถานศึกษาของกลุ่มเยาวชนเครือข่าย
5.เพื่อพัฒนาทักษะชีวิต สมาชิกมีจิตอาสา สร้างสรรค์กิจกรรมด้านการอนุรักษ์น้ำ